วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

วิธีการกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

เพลี้ยแป้งลาย (Striped Mealybug, Firrisia virgata Cockerell) เป็นแมลงปากดูดอยู่ในวงศ์ Pseudococcidae อันดับ Homoptera ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด และส่วนตา แมลงถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty Mold) พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม และอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากพืชยังเล็กอยู่
ชีวและนิเวศวิทยา



พบเพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายมันสำปะหลัง มี 2 ชนิด คือ ชนิดวางไข่ และชนิดออกลูก
1. ชนิดวางไข่ ไข่เป็นเม็ดเดี่ยว สีเหลืองอ่อนยาวรี อยู่ในถุงไข่ซึ่งมีใยคล้ายสำลีหุ้มไว้ขนาดเฉลี่ย กว้าง 0.20 มิลลิเมตร ยาว 0.40 มิลลิเมตร เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีคล้ำ ระยะไข่ 6-7 วัน เฉลี่ย 6.21 วัน ตัวอ่อน สีเหลืองอ่อน ตัวยาวรี ตัวอ่อนวัยแรก (Crawler) เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายหลังจากลอกคราบ 2-3 วัน ส่วนหางจะมีแป้งเกาะตามลำตัวด้านหลังและส่วนขนด้านข้าง ลอกคราบ 3-4 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 18-59 วัน เฉลี่ย 37-57 วัน ตัวอ่อนวัยสุดท้ายมีขนาดเฉลี่ยกว้าง 1.00 มิลลิเมตร ยาว 2.09 มิลลิเมตร หางยาง 1.11 มิลลิเมตร สำหรับเพศผู้ มีการลอกคราบ 2 ครั้ง ระยะตัวอ่อนเพศผู้ 14-15 วัน
ตัวเต็มวัย มีลักษณะตัวค่อนข้างแบน บนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก เวลาวางไข่จะสร้างถุงไข่ไว้ใต้ท้องเป็นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ใช้เวลาสร้าง 2-3 วัน ขนาดตัวเต็มวัยเฉลี่ย กว้าง 1.83 มิลลิเมตร ยาว 3.03 มิลลิเมตร หางยาว 1.57 มิลลิเมตร เพศผู้จะสร้างใยหุ้มตัว 2-3 วันก่อนเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีปีก 1 คู่ยาวกว่าลำตัวและมีหนวดยาว ขนาดตัวกว้าง 0.45 มิลลิเมตร ยาว 1.20-1.35 มิลลิเมตร ความยาวของตัวถึงปีก 1.24-1.57 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัยเพศเมีย 11-26 วัน เฉลี่ย 18.53 วัน หลังจากเป็นตัวเต็มวัยเฉลี่ย 10.42 วัน จึงเริ่มวางไข่ระยะเวลาวางไข่ 5.73 วัน จำนวนไข่ 37-567 ฟองต่อถุงไข่ จำนวนไข่ได้ต่อวันเฉลี่ย 63.56 ฟอง รวมชีพจักร 35-92 วัน เฉลี่ย 62.31 วัน
2. ชนิดออกลูก ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อน กลมรี มองไม่เห็นส่วนหางและไม่มีแป้งเกาะหลังจากลอกคราบแล้ว 2-3 วัน จึงมีแป้งเกาะ และเห็นส่วนหาง ปริมาณแป้งจะพบน้อยกว่าชนิดวางไข่ ลอกคราบ 3-4 ครั้ง ส่วนใหญ่ 3 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 30-49 วัน เฉลี่ย 38.12 วัน ขนาดตัวอ่อนวัยสุดท้ายเฉลี่ยกว้าง 0.35 มิลลิเมตร ยาว 2.31 มิลลิเมตร และหางยาว 1.00 มิลลิเมตร สำหรับเพศผู้ลอกคราบ 2 ครั้ง ระยะตัวอ่อนเพศผู้ 14-23 วัน
ตัวเต็มวัย ตัวป้อม กลมรี ส่วนหลังและด้านข้างมีแป้งเกาะ ตัวเต็มวัยขนาดเฉลี่ยกว้าง 0.50 มิลลิเมตร ยาว 2.09 มิลลิเมตร หางยาว 0.91 มิลลิเมตร เพศผู้สร้างใยหุ้มตัว 4-7 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีปีก 1 คู่ปีก และหนวดยาวกว่าลำตัว ตัวกว้าง 0.35 มิลลิเมตร ยาว 1.28 มิลลิเมตร หางยาว 0.29 มิลลิเมตร ความยาวจากตัวถึงปีก 1.42 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัยเพศเมีย 5-12 วัน เฉลี่ย 11.13 วัน หลังเป็นตัวเต็มวัย เฉลี่ย 6.67 วัน จึงเริ่มออกลูกใช้เวลา 8.32 วัน จำนวนตัวอ่อน 22-455 ตัว เฉลี่ย 146.95 ตัว จำนวนตัวอ่อนต่อวันเฉลี่ย 18.52 ตัว ชีพจักร 35-70 วัน เฉลี่ย 49.35 วัน
เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น โคนใต้ใบมันสำปะหลัง ปริมาณจะขยายจนเต็มข้อ ตามลำต้นส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม
ศัตรูธรรมชาติ
เพลี้ยแป้งมีแมลงศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำ แมลงเบียนอยู่ในวงศ์ Encyridae พบในเพลี้ยแป้งตัวอ่อนวัยสุดท้าย ส่วนใหญ่จะเข้าทำลายเพลี้ยแป้งชนิดออกลูกมากกว่าชนิดวางไข่ เพลี้ยแป้งที่ถูกทำลายจะมีลักษณะกลม รี แข็ง ประมาณ 8 วัน จึงเป็นตัวเบียนเต็มวัย จากการสำรวจในแปลงมันสำปะหลัง (ปี 2525) พบประมาณร้อยละ 10.00 – 46.57 เฉลี่ยร้อยละ 31.14
แมลงห้ำ ได้แก่ Stethorus sp. และ Scymnus sp. อยู่ในวงศ์ Coccinellidae และแมลงช้าง Chrysopa sp. อยู่ในวงศ์ Chrysopidae ซึ่งเป็นแมลงห้ำทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัย จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ แมลงห้ำ Scymnus sp. ระยะหนอน 25-28 วัน อยู่ปะปนในกลุ่มเพลี้ยแป้ง สังเกตได้จากขนาดที่โตกว่า และมีแป้งปกคลุมตามลำตัวชัดเจนกว่าเพลี้ยแป้ง หัวหนอนสีเข้มกว่าลำตัว มีขา 3 คู่ หัวและท้ายเรียว เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ระยะดักแด้ 6-9 วัน ตัวเต็มวัยเป็นแมลงขนาดเล็ก 2.00 มิลลิเมตร หลังโค้งนูนสีน้ำตาล หัวสีน้ำตาลเข้ม อกสีเหลืองทองปลายปีกเป็นรูปวงยาวรีสีเหลืองทอง เคลื่อนที่รวดเร็ว ตัวเต็มวัยสามารถกินไข่ ตัวอ่อนวัย 1 และวัย 2 ของเพลี้ยแป้งได้ 8.39 ฟอง 3.56 และ 0.06 ตัวต่อวัน ตามลำดับ ในสภาพที่มีเพลี้ยแป้งระบาด จะพบแมลงเบียนและแมลงห้ำมีปริมาณมากขึ้นภายหลังที่เพลี้ยแป้งทำความเสียหายแก่พืชแล้ว
พันธุ์มันสำปะหลัง
มันสำปะหลังพันธุ์แนะนำ เช่น ระยอง 90 ไม่มีการทำลายของเพลี้ยแป้งในระดับที่ความเสียหาย
การใช้สารฆ่าแมลง
สารฆ่าแมลงที่ให้ผลดีในระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย คือ Malathion (Malathion 83%EC) อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรหยุดการใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน
แนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่พืชยังเล็กจะกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ต่อการขยายปริมาณเพลี้ยแป้ง ใช้พันธุ์ที่ทางรัฐบาลแนะนำ
2. เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งออกจากแปลง เผาหรือทำลาย และทำความสะอาดแปลงเก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว
3. เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ
4. ควรใช้สารฆ่าแมลงเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุ่นแรง พืชเริ่มแสดงอาการถูกทำลาย พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลง ระยะที่เหมาะสมเป็นระยะที่เพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1-2 เนื่องจากยังไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เพราะแป้งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้อย่างดี พ่นเฉพาะบริเวณที่พบแมลงเท่านั้น
การกำจัดเพลี้ยแป้งนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน และการใช้บอระเพ็ดมาทำเป็นสารสกัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำจัดเพลี้ยแป้งที่สามารถใช้ได้ผลดีและปลอดภัยต่อผู้ใช้สูตรการกำจัดเพลี้ยแป้งด้วยบอระเพ็ด
ส่วนผสม
1. บอระเพ็ด
2. ใบยาสูบ
3. น้ำยาล้างจาน ใช้เป็นสารจับใบ

วิธีทำสมุนไพรกำจัดเพลี้ยแป้ง
1. นำบอระเพ็ดมาหั่นเป็นท่อน ยาวพอประมาณ จากนั้นนำไปให้แหลง(สังเกตุดูจากความหนืดเหนียวของเถาที่ถูกตำ)
2. นำบอระเพ็ดที่ตำแหลกแล้วไปหมักกับน้ำเปล่า ใช้อัตราส่วนบอระเพ็ด 1 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้จนได้น้ำเมือกเหนียว(ไม่จำกัดเวลา ให้สังเกตุดูว่าน้ำหมักที่ได้มีความเหนียวหนืดเมื่อไหร่ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย) เพื่อให้สารในบอระเพ็ดละลายออกมา
3. ผสมยาสูบลงไปในน้ำละลายบอระเพ็ดที่เตรียมได้ ประมาณ 1-2 กำมือ คนให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที 4. ก่อนนำน้ำหมักบอระเพ็ดที่เตรียมได้ไปใช้ ควรผสมกับน้ำยาล้างจาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับติดตัวแมลงหรือพื้นที่ผิวของใบพืช และควรนำน้ำหมักที่ได้ไปผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำสมุนไพร(กะความเข้มข้นพอประมาณ) ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้กับพืชหากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไป

สารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สกัดได้จากสมุนไพรนั้นจะให้ผลดีที่สุด เมื่อใช้สด กล่าวคือ นำมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำหรือนำไปต้มกับน้ำให้ได้ความเข้มข้น และก่อนนำไปใช้กับพืช ควรทำการปสมน้ำสกัดที่ได้กับน้ำเปล่าก่อนทุกครั้ง โดยใช้อัตราส่วน 1 ลิตต่อน้ำ 20 ลิตร การใช้สารนั้นจะใช้การฉีดพ่นหรือให้ไปกับระบบน้ำในตอนเย็นเท่านั้น และควรฉีดพ่นซ้ำทุก ๆ 2-3 วัน เพื่อให้เกิดผลดีสุด และไม่ทำให้แมลงเกิดการดื้อยา

แหล่งข้อมูล : http://as.doa.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น