วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

การปลูกแตงกวา

แตงกวาทานผลสด มีลักษณะสำคัญคือ เนื้อบางไส้ใหญ่ มีเปลือกไม่เขียวเข้ม มีทั้งชนิดผลเล็กและผลใหญ่
ชนิดผลเล็ก ส่วนใหญ่เป็นแตงกวาพันธุ์พื้นเมืองที่มีผลเล็ก ยาว 4 - 10 เซนติเมตร เช่นพันธุ์เจ็ดใบ พันธุ์พิจิตร 1 พันธุ์ร้านค้าตราต่าง ๆ เป็นต้น
ชนิดผลใหญ่ ผลมีขนาดยาว ประมาณ 20 - 25 เซนติเมตร แตงกวาดอง มีลักษณะสำคัญคือ ผลรูปร่างเป็นทรงกระบอก เนื้อหนา มีหนามที่ผลมาก
ฤดูปลูก แตงกวาสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงปลูกที่ดีที่สุดคือ ช่วงปลายฤดูฝน-ต้นฤดูหนาว
การเตรียมดิน
ปกติแตงกวาสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่ชอบคือ ดินร่วนทราย ที่มีความเป็นกรดของดินพอเหมาะ ช่วย pH 5.5-6.8 การเตรียมดินสำหรับแตงกวาจะต้องขุดหรือไถดินให้ลึกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร ยกเป็นแปลงหรือปลูกเป็นหลุมพื้นราบ ถ้าจะยกแปลงควรให้สันร่องกว้างอย่างน้อย 1 เมตร มีร่องระบายน้ำกว้างอย่างน้อย 50 เซนติเมตร การเตรียมดินควรใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อย 2 ตัน/ไร่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และปรับสภาพทางกายภาพของดิน
การใช้ปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ย 15-15-15 รองพื้นอัตรา 30-50 กิโลกรัม/ ไร่ แต่ถ้าเป็นดินทรายจัด อาจใช้สูตร 13-13-21 รองพื้นแทน จะให้ผลดีกว่า
การเพาะกล้า การปลูกแตงกวา ปกตินิยมหยอดเมล็ดลงหลุมปลูกโดยตรง แต่ถ้าปลูกแตงกวาลูกผสมชั่วที่หนึ่ง ซึ่งเมล็ดมีราคาแพง นิยมที่จะเพาะกล้าลงถุง แล้วจึงย้ายลงปลูกเมื่อแตงกวาแตกใบจริง 2-3 ใบ (ประมาณ 10-15 วันหลังเพาะ) การเพาะลงถุงนิยมนำเมล็ดแตงกวามาแช่น้ำยากันรา เช่น ไดโฟลาแทน, ไดเทนเอ็ม 45 ราวครึ่งชั่วโมง แล้วนำไปแช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำไปห่อผ้าขาวบางใส่ถุงพลาสติก ปิดปากแล้วไปบ่มไว้ในที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น เช่น ใช้หลอดไฟ 60 วัตต์ วางห่างถุง 5 นิ้ว นาน 24 ชั่วโมง จึงนำไปเพาะลงถุง ขนาด 4x6 นิ้ว
การปลูก
การปลูกโดยหยอดเมล็ดลงหลุมโดยตรง ปกติจะหยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด หลังจากมีใบจริงถึงถอนแยกเหลือ 1-2 ต้น/ หลุม ระยะปลูกโดยทั่วไประหว่างต้นจะห่างประมาณ 50-100 เซนติเมตร ระหว่างแถว 150 เซนติเมตร ถ้าไม่ใช้ค้าง ถ้าปลูกแบบมีไม้ค้างจะปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร
การใส่ปุ๋ย
ในช่วงเตรียมดินจะใส่ปุ๋ยรองพื้นด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี หลังปลูกเมื่อต้นอายุ 7-10 วัน ควรจะใส่ปุ๋ยเร่ง เช่น ยูเรีย, แอมโมเนียมไนเตรด อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ ไร่ โรยรอบโคนแล้วรดน้ำให้ทั่วให้ปุ๋ยละลายหมด เมื่อต้นอายุ 20-25 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ ไร่ อีกครั้งหนึ่ง
การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอบ่อย ๆ ปกติควรรดน้ำวันละครั้ง การให้น้ำอาจให้น้ำแบบร่อง รดด้วยสายยางใส่ฝักบัว แต่ไม่ควรใช้สปริงเกอร์ เพราะจำทำให้เกิดโรคทางใบมาก การรดน้ำหลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งต้องมากพอที่จะละลายปุ๋ยของดิน
การทำค้าง ปกติการปลูกแตงกวาไม่นิยมทำค้าง แต่ถ้าปลูกแตงกวาดองหรือแตงกวาทานผลสดชนิดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน มีความจำเป็นที่จะต้องทำค้าง เพื่อลดความสูญเสียของผลเนื่องจากโรคเน่า การทำค้างอาจใช้ปลายไม้รวกหรืออาจดัดแปลงวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ต้นอ้อ ต้นพง ต้นแขม ทำค้างรูปสามเหลี่ยม โดยใช้เชือกขึงตามแนวนอนทุก ๆ ระยะ 20-30 เซนติเมตร
การเก็บเกี่ยว
อายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลได้ครั้งแรก จะอยู่ระหว่าง 30-35 วัน อายุผลหลังจากตอบแทนแตงกวาบริโภคผลสดจะอยู่ในช่วง 6-7 วัน ในขณะที่แตงกวาดอง (ผลเล็ก) จะใช้เวลา 3-4 วัน การเก็บบริโภคผลสดควรเก็บเมื่อผลยังมีผิวขรุขระมองเห็นตุ่มหนามชัดเจน ผลยังเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เมล็ดในผลยังอ่อนนิ่ม ผลกรอบ เนื้อแน่น ผลขนาดยาว 7-10 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นแตงกวาผลใหญ่จากต่างประเทศ จะมีขนาดยาว 20-25 เซนติเมตร การเก็บควรทยอยเก็บวันเว้นวัน หรือเก็บทุกวัน การเก็บทุกวันจะได้รายได้ดีกว่าเก็บวันเว้นวัน แตงกวาที่เก็บหลงอยู่ควรเก็บออกให้หมดเมื่อเก็บครั้งต่อไป ถ้าทิ้งไว้จะทำให้ผลผลิตลดลง การเก็บเกี่ยวปกติจะเก็บได้ประมาณ 1 เดือน
การบรรจุ, ขนส่ง หลังจากเก็บ เกษตรกรนิยมบรรจุแตงกวาลงเข่งกรุด้วยใบตอง หรือบรรจุลงถุงพลาสติก ขนาด 10 กิโลกรัม แล้วขนส่งโดยรถปิคอัพ การขนส่งควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่าให้ถูกอากาศร้อนจัดแตงกวาจะเปลี่ยนสีผิวได้ง่ายโดยเฉพาะแตงกวาหนามดำ แต่ถ้าเป็นแตงกวาหนามขาวจะเปลี่ยนสียาก คือเก็บได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะที่แตงหนามดำเก็บได้ 1-2 วัน เท่านั้น
แหล่งผลิต แตงกวาเป็นพืชที่ปลูกอยู่ทั่วไป แต่แหล่งผลิตใหญ่ในภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง พิจิตร นครสวรรค์ น่าน ภาคอีสานจะมีปลูกมากที่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น ภาคตะวันออก ปลูกมากในจังหวัด ระยอง ปราจีนบุรี และชลบุรี
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ควรพ่นยาป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ เต่าแตง แมลงวันทอง โดยใช้ยาพวกคาร์บาวิล (เซฟวิน) และยาพวกคาร์โบซัลแฟน (ฟอสซ์) พ่นสัปดาห์ละครั้งสลับกัน แต่ถ้ามีเพลี้ยไฟระบาดควรพ่น ฟอสซ์ทุก ๆ 5-7 วัน
ควรพ่นยาพวกแมนโคเซป (ไดเทนเอ็ม 45) หรืแคบตาโพล (ไดโฟลาแทน) เพื่อป้องกันโรคทางใบ สัปดาห์ละครั้งโดยอาจพ่นร่วมกับการพ่นยาฆ่าแมลง
การป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้าง วิธีป้องกันที่ดีคือ คลุกเมล็ดแตงกวาก่อนปลูกด้วยสารพวกเมตาแลกซิล (เอพรอน 35 SD.) โดยใช้เมล็ด 1 กิโลกรัมต่อยา 7 กรัม ซึ่งจะป้องกันโรคในระยะเดือนแรกได้ดี หลังจากนั้นควรพ่นยาป้องกัน เช่น แมนโคเซป (ไดเทนเอ็ม 45) หรือ แคบตาโฟล (ไดโพลาแทน) ทุก ๆ 7 วัน

3 ความคิดเห็น: