วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เรียกันสั้นๆว่า นกเจ้าฟ้า หรือนกตาพอง เป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกนางแอ่น คุณกิตติ ทองลงยา แห่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย เป็นผู้พบนกชนิดนี้ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ ๒๘ มกราคม พ.ศ ๒๕๑๑ เป็นนกที่หายากมาก และเป็นนกที่พบเฉพาะแหล่ง (Endemic Species) คือพบที่บึงบอนะเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น มีลักษณะคล้าย นกนางแอ่น ทั่วๆไป (Swallows) แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลำตัวยาวประมาณ ๑๕ ซม. มีขนสีดำเป็นมันเหลือบน้ำเงินปนเขียว มีแต้มสีขาวตรงโคนหาง ตาใหญ่ เห็นตาขาวชัดเจน ขอบตาเป็นวงสีขาว นัยน์ตาและม่านตาขาวอมชมพูเรื่อๆ ปากสีเหลือง มีลักษณะแบนกว้างกว่าปากของนกนางแอ่นมาก บริเวณสะโพกมีแถบสีขาวขนาดใหญ่เด่นชัด หางสั้นกลมมน และในขณะที่นกนางแอ่นมีขนหางยาวแฉกลึกนั้น นกเจ้าฟ้าฯ จะมีหางสั้นกลมมน และนกที่โตเต็มที่แล้วจะมีแกนหางคู่กลางเส้นเล็กๆ ๒ เส้น ยี่นยาวออกมาประมาณ ๘.๕ เซนติเมตร คล้ายหางนกหางบ่วง แต่ปลายบ่วงมีขนาดเล็กมาก มีความกว้างประมาณ ๒ มิลลิเมตร ยาวประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร ใต้คอสีน้ำตาลดำ หน้าผากมีขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ ขาและแข้งเป็นสีชา นกที่โตเต็มวัยจะมีขนหางคู่กลางยื่นยาวออกมาประมาณ ๑๐ ซม. มีลักษณะคล้ายบ่วงแต่ปลายบ่วงเล็กมาก อาศัยอยู่เป็นฝูงตามทุ่งหญ้า ชอบบินโฉบจับแมลงกินเป็นอาหาร
จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือ นกเจ้าฟ้าฯ จะมีขอบตาสีขาวเป็นวงรอบตาเห็นได้ชัดเจน ทำให้เห็นเหมืนว่าตาของมันพองโปนขึ้นมา ชาวบ้านเรียกนกชนิดนี้ว่า "นกตาพอง"
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ นักวิทยาศาสตร์จากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจำนวนมากจากบึงบรเพ็ด เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ ในเอเซียอาคเนย์ และในระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. ๒๕๑๑ คุณกิตติ ทองลงยา เป็นผู้ค้นพบนกตัวหนึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นอื่นๆ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วๆไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน
ในการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใดๆของประเทศไทยได้ ดังนั้น คุณกิตติ ทองลงยา จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนก ส่งไปให้ สถาบันสมิทโซเนียน และ บริทิชมิวเซียม ช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นเทียมสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโก อาฟริกา
จากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่างๆภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นเทียมคองโก(Pseudochelidoninal eurystominal) จึงลงความเห็นว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือ นกนางแอ่นเทียมคองโก ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบรเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก
นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร“ หรือ White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)
นกเจ้าฟ้าฯ เป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic species ) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่บึงบรเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นนกโบราณที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อย จึงมีเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมาก มีรายงานการค้นพบที่สามารถยืนยันได้เพียง ๑๐ ตัวเท่านั้น และจากรายงานการพบเห็นครั้งหลังสุด ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ จนกระทั้งผ่านมาถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปีมาแล้ว ที่เราไม่ได้เห็นนกเจ้าฟ้าฯ อีกเลย และจากการจัดให้มีการประชุมของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มนักชีววิทยาในประเทศไทย เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ นั้น นกเจ้าฟ้าฯ ได้ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ลักษณะภายในของนก โดยเฉพาะหลอดคอ ปรากฏ ว่าไม่เหมือนกับนกนางแอ่นทั่วๆ ไป แต่คล้ายกับนกนางแอ่นในสกุล Pseudochelidon ที่พบในแอฟริกาดังกล่าวแล้ว และมีเพียงชนิดเดียวคือ Pseudochelidon eurystomina (eurystomina แปลว่า ปากกว้าง) ยิ่งกว่านั้นรูปร่างลักษณะภายนอกต่างๆ โดยเฉพาะสีสันของลำตัวก็คล้ายกัน กล่าวคือ ตัวสีค่อนข้างดำ แต่ลักษณะอื่นๆ เช่น สีของปาก สีของตา และลักษณะของหางผิดกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ นกนางแอ่นเทียมคองโกนั้น ตัวดำ ตาแดง แข้งแดง ขนหางมน และขนหางคู่กลางยื่นยาวออกมาคล้ายเข็มหมุดแต่สั้นมาก โผล่พ้นปลายหางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นกที่พบในบึงบอระเพ็ด ตัวดำเหลือบเล็กน้อย โคนขนหางมีแถบสีขาว ตา และวงรอบเบ้าตาขาวสะอาด ปากเหลืองอมเขียว หางคล้ายกัน แต่ขนหางคู่กลาง จะมีแกนยื่นยาวออกไปมาก ปากก็กว้างกว่านกนางแอ่นเทียมคองโกอย่างน้อย ๒ เท่า
จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นคนละชนิดกันกับนกนางแอ่นเทียมคองโก อย่างแน่นอน แต่สำหรับการจัดไว้ในสกุลเดียวกันหรือไม่นั้น นักปักษีวิทยาหลายท่านมีความเห็นแตกต่างกันเป็น ๒ พวก โดยพวกหนึ่งคิดว่า ลักษณะที่มีทั้งหมดนี้พอที่จะตั้งสกุลใหม่ได้ โดยเสนอให้ใช้ชื่อสกุลใหม่ว่า Thaiornis (แปลว่า นกที่พบในประเทศไทย หรือนกของประเทศไทย) ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกันกับ นกนางแอ่นเทียมคองโกคือ Pseudochelidoninae และ แตกต่างจากนกนางแอ่นทั่วๆ ไปที่จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Hirundininae และทั้งหมดอยู่ในวงศ์เดียวกันคือ Hirundinidae แต่อีกพวกหนึ่งมีความเห็นว่า ควรจัดอยู่ในสกุลเดียวกับนกนางแอ่นเทียมคองโกไปก่อน และหลังจากที่มีการศึกษาชีววิทยาตลอดจนอุปนิสัย และการดำรงชีวิตของนกชนิดนี้ อย่างละเอียดแล้วค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผล หลายประการดังกล่าวแล้ว จึงจัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรไว้ในสกุล Pseudochelidon เช่นเดียวกับนกนางแอ่นเทียมคองโก จนกว่าจะมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และอาจเปลี่ยนแปลงทีหลังได้สำหรับชนิด หรือ species นั้นจัดเป็นชนิดใหม่ (new species) โดยครั้งแรกมีความตั้งใจตั้งชื่อนกชนิดใหม่ตามพระปรมาภิไธยใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ในการที่พระองค์ ท่านทรงมีพระราชอุตสาหะอย่างแรงกล้า ที่จะปลูกฝังเยาวชนไทยให้มีความรู้ความชำนาญ ด้านวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากการที่ พระองค์ท่านทรงสนพระทัยในกิจกรรมด้าน วิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ อยู่เสมอๆ แต่หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่หลายๆ คน ต่างก็มีความเห็นว่า ไม่ควรนำพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ แม้แต่ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ฯ (พระยศในขณะนั้น) มาปะปนในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงได้มีการเสนอขอใช้พระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯ (พระยศในขณะนั้น) เนื่องจาก เจ้าฟ้าหญิงฯ ได้ทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด จึงได้นำความ กราบบังคมทูลขอพระราชทาน นามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯ เพื่อตั้งชื่อนกใหม่ชนิดนี้ ซึ่งก็ทรงมีพระบรมราชานุญาต ดังนั้นนกชนิดใหม่นี้ จึงได้ชื่อทางด้านวิทยาศาสตร์ว่า Pseudochelidon sirintarae ตามพระนามของ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯ สำหรับชื่อสามัญนั้นเรียกตามลักษณะที่ปรากฏคือ White-eyed River Martin โดยชื่อ River Martin เป็นชื่อนกนางแอ่นที่ใช้กับชื่อนกนางแอ่นเทียมคองโก ส่วน White-eyed เพราะตามีสีขาว ส่วนชื่อภาษาไทยนั้นก็เรียกว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” อย่างไรก็ตามชาวบ้านแถบบึงบอระเพ็ด เคยเรียกชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” ด้วยเหตุที่ วงรอบเบ้าตาสีขาว ดูคล้ายๆ กับนัยน์ตาโปนออกมาจากเบ้าตา แต่เป็นการเรียกเฉพาะในหมู่ผู้คนที่เคยจับหรือเห็นนกชนิดนี้ และเรียกหลังจากที่จับได้ในช่วงที่มีการว่าจ้างให้จับเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้จัก และมักเรียกรวมๆ กันกับนกที่มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ว่า “นกนางแอ่น”นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกที่ค่อนข้างเชื่องไม่ปราดเปรียว มักจะเกาะนิ่งอยู่กับพื้นดิน ซึ่งแตกต่างไปจากนกนางแอ่นอื่นๆ ที่บินปราดเปรียว ส่งเสียงร้องดัง เคลื่อนไหวอยู่เสมอ และจับเกาะบนกิ่งไม้ หรือต้นอ้อ ต้นหญ้า บริเวณเกาะ หรือบริเวณพืชพ้นน้ำ ไม่ทราบ ชีววิทยาอื่นๆ ของนกเจ้าฟ้าฯ โดยเฉพาะการทำรังวางไข่ ซึ่งนกนางแอ่นเทียมคองโกนั้น ทำรังโดยการขุดพื้นทราย บนเกาะกลางแม่น้ำในหน้าร้อน ขุดลึกลงไป ๑-๒ เมตร วางไข่ ๒-๓ ฟองใน ๑ รู และอพยพหากินไปตามลำน้ำเป็นระยะทางราว 800 กิโลเมตร นกเจ้าฟ้าฯ จะทำรังอย่างนกนางแอ่นเทียมคองโกหรือไม่ ฤดูการผสมพันธุ์จะเป็นเมื่อใด (ตามข้อมูล ควรจะเป็นฤดูร้อนหรือหลังจากเดือนกุมภาพันธ์อย่างแน่นอน เพราะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีเพียงตัวเมีย ตัวเดียวที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับอวัยวะเพศ ตัวอื่นๆ อวัยวะเพศยังไม่เจริญแต่อย่างใด) จะอพยพหากินตามลำน้ำ ซึ่งน่าจะเป็น แม่น้ำยม หรือแม่น้ำน่าน ยังเป็นที่สงสัยอยู่ ทั้งนี้เพราะหลังจากที่ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับการค้นพบและ ตั้งชื่อนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในหนังสือ Thai National Scientific Papers, Fauna Series No. 1 ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ แล้ว ปรากฏว่ามีนักปักษีวิทยาจำนวนมากทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ สนใจและเฝ้าติดตาม ผลรายงานความก้าวหน้าตลอดมา จนกระทั่งคุณกิตติ ทองลงยา ผู้ซึ่งพบ บรรยาย และตั้งชื่อนกชนิดนี้ ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๗ ด้วยโรคหัวใจ และจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีผลงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของใคร เกี่ยวกับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรออกมาอีกเลย ปัจจุบัน IUCN และสำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม (๒๕๔๐) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก เพราะ หลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการพบนกชนิดนี้อีกเลย นอกจากนี้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ได้จัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนอีกด้วยนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของนกนางแอ่น เพราะนกเจ้าฟ้าซึ่งถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ย่อยนกนางแอ่นเทียม (PSEUDOCHELIDONINAE) นั้น มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด กับนกนางแอ่นเทียมคองโก (Pseudochelidon eurystomina) ซึ่งเป็นนกอีกเพียงชนิดเดียว ที่ถูกจัดรวมอยู่ในวงศ์ย่อยนี้เป็นนกที่พบได้ตามลำธารในประเทศซาอีร์ ในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก ซึ่งแหล่งที่พบนกทั้งสองชนิดนี้มีระยะทางห่างกันถึง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตรเนื่องจากนกเจ้าฟ้าที่พบมีประชากรน้อยมาก หลังจากคุณกิตติฯ ได้พบนกชนิดนี้แล้ว มีผู้คาดว่าเขาได้เห็นนกเจ้าฟ้าอีกเพียงสองครั้งเท่านั้น คือในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ และ เดือนมกราคม ๒๕๒๓ ครั้งละ ๒-๔ ตัว โอกาสที่จะพบนกสองชนิดนี้อีกครั้งจึงน้อยมาก ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ นักปักษีวิทยาของไทย จึงได้จัดให้นกเจ้าฟ้าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่งอย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครสามรถยืนยันได้ว่า ยังมีนกเจ้าฟ้าฯ หลงเหลืออยู่ หรือว่าได้สูญพันธุ์หมดสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว เพราะหลังจากการพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นับเป็นเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๐ กว่าปีแล้ว ที่เราไม่ได้รับรายงานการพบเห็นนกเจ้าฟ้าฯ อีกเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทำการค้นหาและศึกษานกเจ้าฟ้าฯ กันอย่างอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้อนุรักษ์นกที่หายากที่สุดในโลก ชนิดนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติและของโลกสืบไป
ข้อมูลอ้างอิง
• ดัดแปลงจาก รศ.โอภาส ขอบเขต.1998, Bird of Bung Boraphet. Office of Environmental Policy and Planning. • สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
• อนุสาร อ.ส.ท. ๒๔,๗ (ก.พ. ๒๗ ) ๓๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น