วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สัมมนากำหนดพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายฯ

จังหวัดพิษณุโลกได้รับการประสานงานกรมวิชาการเกษตร จัดสัมมนา เรื่อง การกำหนดพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่ สะเดา กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก คึ่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนองตายหยาก ซึ่งได้มอบหมายให้ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ล จำกัด เป็นผู้จัดสัมมนาเพื่อชี้แจงข้อมูลที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและความเข้าใจต่อผู้บริโภค ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร นักวิชาการ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักการเมืองท้องถิ่น และสื่อมวลชน ประมาณ 400 - 500 คน ในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2552 เวลา 08.00 น. - 13.00 น. ณ โรงละครเฉลิมพระเกียรติ(Qs) ตึกคณะแพทย์ศาสตร์ติดกับหอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร ม.นเรศวร(หนองอ้อ) จ.พิษณุโลก

การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น
“การกำหนดพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1”

23 พฤษภาคม 2552 ภาคเหนือพิษณุโลกโรงละครเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยนเรศวร
30 พฤษภาคม 2552 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุบลราชธานี ศูนย์วัฒนธรรมกาญจนาภิเษก ห้องพิมานทิพย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
7 มิถุนายน 2552 ภาคกลาง นนทบุรี ฮอลล์ 4 อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี
13 มิถุนายน 2552ภาคใต้สุราษฎร์ธานีห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนเทพนิมิตศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กำหนดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น
“การกำหนดพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1”

08.30 น. ลงทะเบียนผู้ร่วมสัมมนา (ตอบแบบสอบถามชุดที่ 1 ก่อนสัมมนา)
09.30 น. พิธีเปิดโดย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หรือผู้แทน
09.45 น. นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้พืช 13 ชนิดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดย ดร. รัตนาภรณ์ พรหมศรัทธา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
10.30 น. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551
11.15 น. อภิปรายเรื่อง “การกำหนดพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1” ผู้ดำเนินรายการ: สร้อยฟ้า โอสถานนท์ และผู้ร่วมอภิปราย:ผู้แทนเกษตรกร ดร.รัตนาภรณ์ พรหมศรัทธา (ผู้แทนนักวิชาการ) ผู้แทนสื่อมวลชน นายวิชา ธิติประเสริฐ (ผู้แทนกรมวิชาการเกษตรร) ผู้แทนนักการเมืองท้องถิ่น
12.00 น. เปิดเวทีความคิดเห็นตอบข้อซักถามผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามชุดที่ 2 หลังฟังสัมมนา
13.00 น. ปิดการสัมมนา คืนแบบสอบถาม และรับของที่ระลึก รับประทานอาหารกลางวัน
คำแถลงของเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์ เรียกร้องให้ยกเลิกคำประกาศให้พืชอาหารและสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย

1. สาระสำคัญของเรื่อง
1.1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยดำเนินการตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร และความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ประกาศ [1] ให้พืชสมุนไพรซึ่งใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1

1.2 ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [2] โดยให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาเกษตรเป็นผู้กำหนด [3] การออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยโดยแท้ เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” และ “เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย

1.3 ตามความในมาตรา 18 วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ผู้ใดที่ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามความในมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ผลกระทบ
2.1 พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย จนถึงมีผลน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือซื้อได้ในราคาไม่แพงจากชาวบ้าน หรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นซึ่งในระยะหลังมีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตเพื่อขายกันอย่างแพร่หลาย เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่ามีจำนวนผู้ใช้สมุนไพรดังกล่าวในการควบคุมแมลงหลายแสนครอบครัว และทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านบาท [4] ทั้งนี้ไม่นับไปถึงคุณค่าในการเกื้อกูลต่อสุขภาวะต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยโดยรวม

2.2 การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจะสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรและคนในท้องถิ่นรวมจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช เป็นการสร้างภาระ และอุปสรรคในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุขและอื่นๆ เป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยที่ไม่สุจริตเรียกร้องผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถหาสมุนไพรมาผลิตเองใช้เองต้องหันไปซื้อสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน

ในยุคของวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายใดๆ ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรยังเป็นการสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆ ที่เกษตรกรเผชิญปัญหาด้านต่างๆ มากเกินพออยู่แล้ว

3. ข้อสังเกตบางประการ
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า การประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเกษตรกร แต่การดำเนินดังกล่าวซึ่งรวบรัดดำเนินการ และไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค และจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น [5] รวมทั้งเกษตรกรและองค์กรท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น นอกจากเป็นการดำเนินการที่ปราศจากธรรมาภิบาลแล้ว ยังตั้งคำถามว่า คำประกาศดังกล่าวนั้นมีเจตนาเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเคมีเกษตร และบรรษัทข้ามชาติหรือไม่ ?

4. ข้อเสนอ
เครือข่ายของภาคประชาชน ตามท้ายคำแถลงนี้ ขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
4.1 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้มีการยกเลิกคำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 และยกเลิกการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ....” โดยให้ยกเลิกภายใน 30 วัน

4.2 ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐมตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว ว่าได้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย
เครือข่ายหมอพื้นบ้าน
โรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี
มูลนิธิชีววิถี
มูลนิธิสุขภาพไทย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิชีวิตไทย
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จ.เชียงใหม่
โครงการรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.)

แถลง ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552

เชิงอรรถ
[1] ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 18 ง หน้า 4 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552
[2] โปรดดู ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ....
[3] แบบ วอ./กษ./กวก.16
[4] จากการประมาณการของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
[5] ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่3) พ.ศ.2551 บัญญัติให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง 5 คน แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์ การดำเนินการคุ้มครองสุขอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม อ้างอิงจาก อังคณา สุวรรณกูฐ “เจาะลึกพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่” ในจดหมายข่าวผลิใบ, กรมวิชาการเกษต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น