วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปลาเสือตอ


ปลาเสือตอเสือตอลายใหญ่ เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides pulcher เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเสือตอ (Lobotidae) มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน พื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีส้มอมดำ มีแถบสีดำคาดขวางลำตัวในแนวเฉียงรวมทั้งสิ้นประมาณ 5 - 6 แถบ ส่วนหัวมีลักษณะลาดเอียงมาก เกล็ดเป็นแบบสาก (Ctenoid) มีลักษณะนิสัยอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ใต้น้ำ โดยมักจะอาศัยบริเวณใกล้ตอไม้หรือโพรงหินด้วยการอยู่ลอยตัวอยู่นิ่งๆ หัวทิ่มลงเล็กน้อย หากินในเวลากลางคืน โดยกินอาหารแบบฉกงับ (Snap) อาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงต่างๆ มีขนาดลำตัวโตสุดประมาณ 40 ซ.ม. หนักถึง 7 ก.ก.
อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ในภาคกลางของประเทศ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ในภาคอีสานเช่น แม่น้ำโขงและสาขา ต่างประเทศพบที่ อินเดีย พม่า กัมพูชาเป็นต้น โดยเฉพาะทื่บึงบอระเพ็ดเป็นที่ขึ้นชื่อมากเพราะมีรสชาติอร่อย กล่าวกันว่า ใครไปถึงบึงบอระเพ็ดแล้ว ไม่ได้กินเสือตอ ถือว่าไปไม่ถึง แต่ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการพบมานานแล้ว จนเชื่อว่าสูญพันธุ์จากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย (Extinct)เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เมื่อเวลาล่าเหยื่อจะกางครีบทุกครีบ ก่อนจะฉก แม้จะมีราคาที่แพง เพราะหายาก ปลาที่มีขายในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ นำเข้าจากประเทศกัมพูชา แม้ปัจจุบัน มีผู้เพาะพันธุ์ได้แล้วจากการผสมเทียม แต่ยังได้ผลไม่แน่นอนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปลาเสือตอ พฤติกรรมในการกินอาหาร มักจะกินเฉพาะอาหารที่มีชีวิตหรือเคลื่อนไหวได้เท่านั้น น้อยรายที่จะสามารถฝึกปลาจนสามารถกินอาหารเม็ดหรืออาหารตายได้
มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "ลาด"
ปลาเสือตอจัดเป็นปลาสวยงามของไทยชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะสามารถทำรายได้ให้กับผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์และเนื้อมีรสชาติดี เดิมทีประชาชนนิยมบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งเคยเป็นเมนูที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ แต่ในปัจจุบันประชาชนนิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินมากกว่าที่จะนำไปบริโภค เพราะว่ามีราคาแพง อัตราการจับปลาเสือตอจากธรรมชาติมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาเสือตอกำลังสูญพันธุ์ไป นั่นก็คือ ความเสื่อมสภาพลงของสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ การทำการประมงเกินกำลังการผลิต การทำการประมงที่ผิด พ.ร.บ. เช่น การใช้ยาเบื่อเมา การใช้วัตถุระเบิด การใช้กระแสไฟฟ้าช๊อตจับปลา การลักลอบจับปลาในฤดูวางไข่ สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของมนุษย์ และเนื่องจากปลาเสือตอกำลังอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ปลาเสือตอจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (2540) ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองจะต้องทำการขอุอนญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และจะต้องปฏิบัติตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ผู้ใดมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด โทษปรับไม่เกิน 40,000 บาทและจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์และสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงปลาเสือตอเพื่อมิให้สูญหายไปจากสารบบปลาสวยงามของไทยและให้มีอยู่คู่กับเราตลอดไป
1. ทำความรู้จักกับปลาเสือตอ
1.1 การเรียกชื่อชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides (Coius) microlepisชื่อไทย : ปลาเสือตอ ปลาลาดชื่ออังกฤษ : Tiger fish, Siamess tiger fish, Gold datnoid
1.2 แหล่งกำเนิดและถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาเสือตอเป็นสัตว์น้ำจืดซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ชอบอาศัยอยู่ตามหนอง บึง หรือลุ่มน้ำต่างๆ พบมากบริเวณภาคกลาง ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน่าน และเคยพบชุกชุมมากในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์และแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในปัจจุบันพบว่ามีปริมาณลดน้อยลงมาก ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี นอกจากนี้ยังพบปลาเสือตอได้ทั่วไปในประเทศทางแถบร้อน เช่น อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และเขมร
1.3 รูปร่างลักษณะโดยทั่วไป ปลาเสือตอเป็นปลาใน Family Lobotidae ลำตัวมีสีเหลืองอมน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ตัวโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 40-50 cm ลักษณะที่โดเด่นเฉพาะตัวได้แก่ มีเส้นลายดำพาดขวางประมาณ 6-7 แถบ ลักษณะของลำตัวค่อนข้างลึกแบนกว้าง ส่วนหัวลาดลงเป็นปลายแหลม ปากกว้างยาวและสามารถยืดหดได้มาก (Protactile Jaw) มีครีบ 7 ครีบ ครีบหลังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแข็ง 12 อันส่วนหลังเป็นก้านครีบอ่อน ครีบอีก 1 คู่โปร่งใส ครีบท้อง 1 คู่อยู่ใต้ครีบอก ครีบก้นเป็นหนามแข็ง 3 อัน และส่วนที่เหลือเป็นก้านครีบอ่อน ครีบหางมีลักษณะกลม ขนาดลำตัวที่พบในธรรมชาติประมาณ 10-16 นิ้ว ปลาเสือตอที่พบในประเทศไทย มีลายบนลำตัวแตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์
1.3.1 ปลาเสือตอลายใหญ่ ( Coius microlepis) ลายพาดขวางสีดำมีขนาดใหญ่ พื้นที่ของเส้นดำกลางลำตัวจะกว้างพอๆกับส่วนของสีพื้นซึ่งเป็นสีอ่อน และยังมีความแตกต่างกับปลาเสือตอลายเล็กตรงที่ลายพาดสีดำจะพาดผ่านแผ่นปิดเหงือกไปยังโคนครีบหูโดยจะอ้อมรอบลำคอทางด้านล่างของลำตัว นอกจากนี้ความลึกของลำตัวยังมากกว่าอีกด้วย ในปัจจุบันคาดว่าปลาเสือตอลายใหญ่สูญหายไปจากแม่น้ำในประเทศไทยแล้ว ส่วนปลาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าจากต่าประเทศเกือบทั้งหมด เช่น กัมพูชา และเวียดนาม
1.3.2 ปลาเสือตอลายเล็ก (Coius undecimradiatus) เป็นสายพันธุ์ที่มีลายดำพาดขวางแต่ละเส้นมีขนาดเล็ก โดยเล็กกว่าชนิดลายใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น และลายพาดสีดำดังกล่าวจะพาดผ่านแผ่นปิดเหงือกแล้วไปสิ้นสุดที่โคนครีบหู แต่ไม่อ้อมรอบลำคอ ปลาเสือตอลายเล็กนี้จะเป็นชนิดที่พบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย
1.4 อุปนิสัยของปลา เสือตอสาเหตุที่ได้ชื่อว่า "ปลาเสือตอ" เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบอาศัยหลบอยู่ตามตอไม้ใต้น้ำ หรือก้อนหินใต้น้ำ แต่จะไม่ชอบที่ที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นเยอะๆ มักจะชอบแฝงตัวอยู่อย่างเงียบๆคอยซุ่มจับเหยื่อ ตามธรรมชาติปลาเสือตอชอบหากินอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ 2-3 เมตร ปลาเสือตอจัดเป็นปลาประเภทกินเนื้อ ดังนั้นเหยื่อของมันจึงเป็นพวกปลาเล็ก และกุ้ง การกินของมันทำโดยการพุ่งเข้าฮุบเหยื่ออย่างว่องไว ชอบหากินในเวลากลางคืน ขณะที่กินอาหารนั้นตัวปลาจะมีสีสดใส และมักจะกางหนามของครีบหลังตั้งขึ้น ปลาเสือตอจะมีประสาทตาที่ไว คอยระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ มีนิสัยรักความสงบ เลี้ยงเชื่อง ไม่ก้าวร้าวถ้าไม่ถูกรังแก ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายๆตัว หรืออาจเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆที่มีขนาดใกล้เคียงกันก็ได้ แต่ปกติแล้วปลาชนิดนี้จะมีนิสัยไม่ชอบอยู่รวมกับปลาชนิดอื่น
1.5 เทคนิคและวิธีการเลี้ยงปลาเสือตอ ปลาเสือตอถือว่าได้รับความนิยมติดอันดับต้นๆของปลาสวยงามที่นักเลี้ยงปลาให้ความสนใจ เนื่องจากมีความสวยงามน่ารักโดดเด่น เลี้ยงง่าย ผู้เลี้ยงปลาสวยงามมักนิยมเลี้ยงปลาเสือตอรวมกับปลาอะโรวาน่า โดยเชื่อกันว่าปลาอะโรวาน่าจะเปรียบเสมือนมังกรที่แหวกว่ายอยู่บนท้องฟ้า และปลาเสือตอเปรียบเสมือนเสือที่คอยคุ้มครองโลกมนุษย์ การเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบการเลี้ยงในตู้กระจก ขนาดของตู้กระจก ถ้าเลี้ยงเฉพาะปลาเสือตอไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากนัก เพราะปลาเสือตอเป็นปลาที่ชอบหลบอยู่ตามซอกหินหรือกองไม้ ไม่ชอบออกมาว่ายน้ำตลอดเวลา แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมระหว่างจำนวนปลาและขนาดของตู้ ไม่ควรให้แคบจนเกินไป ควรจัดตู้ให้มีที่หลบซ่อน เช่น จัดให้ถ้ำ หรือกองไม้ใต้น้ำ และควรปลูกไม้น้ำให้มีความหนาแน่นพอสมควร น้ำที่ใช้เลี้ยงควรเป็นน้ำเก่า มีความเป็นกรดอ่อนๆ หรือ pH ไม่ควรเกิน 7 อุณหภูมิน้ำอยู่ในช่วง 22-30 องศาเซลเซียส จัดระบบกรองน้ำให้ดี ส่วนการให้อาหาร เนื่องจากปลาเสือตอมีนิสัยชอบกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ดังนั้นปลาขนาดเล็ก ควรให้ลูกน้ำหรืออาร์ทีเมีย แต่ถ้าเป็นปลาขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ให้กุ้งฝอยหรือลูกปลาที่เพาะได้ใหม่ๆ ปลาที่เลี้ยงจนคุ้นเคยแล้วเราสามารถฝึกให้กินอาหารพวก เนื้อกุ้ง เนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์อื่นๆได้โดยต้องทำการฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป
2. การเพาะเลี้ยงและอนุบาลปลาเสือตอ การเพาะเลี้ยงปลาเสือตอในขั้นตอนแรกนั้นจะต้องทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลา ซึ่งก่อนอื่นต้องทำการแยกเพศปลาให้ได้เสียก่อน การสังเกตดูเพศโดยดูลักษณะรูปร่างภายนอกนั้น ถ้าเป็นเพศผู้จะมีลักษณะลำตัวเรียวยาวและเล็กกว่า ขนาดตัวโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม ซึ่งสามารถนำมาเป็นพ่อพันธุ์ได้ ส่วนเพศเมียลำตัวจะมีลักษณะป้อมหรือกลม วัยเจริญพันธุ์จะมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม ปลาเพศเมียเมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นท่อนำไข่ยื่นออกมาอย่างชัดเจน การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้ผสมพันธุ์กัน อาจจะปล่อยในอัตราส่วนปลาเพศผู้มากกว่าปลาเพศเมีย หรือในอัตราส่วน 1: 1 ก็ได้ การเพาะเลี้ยงอาจทำในบ่อซีเมนต์ ปลาเสือตอส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน เมื่อปลาเสือตอผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว จะเห็นไข่ของปลาเสือตอ ซึ่งมีลักษณะเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 มม. ไข่ที่ได้รับการผสมจะมีสีค่อนข้างใสอมเหลืองเล็กน้อย มีหยดน้ำมันอยู่ภายในและมีลักษณะเป็นประกายสะท้อนแสง ไข่จะลอยอยู่ในระดับผิวน้ำถึงกลางน้ำ ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสม จะมีลักษณะค่อนข้างขาวขุ่นทึบแสง และลอยอยู่ระดับผิวน้ำ ควรแยกไข่ที่ไม่ได้รับการผสมออก ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักออกเป็นตัวภายในระยะเวลา 15-17 ชั่วโมง ในอุณหภูมิน้ำประมาณ 28-29 องศาเซียลเซียส ลักษณะของลูกปลาที่ฟักออกใหม่ๆจะใสและเรียวยาว ถุงอาหารจะยุบหมดภายในระยะเวลา 2-3 วัน อาหารของลูกปลาในระยะนี้ได้แก่ พวกอาหารมีชีวิต เช่น โรติเฟอร์ ไรแดง หรือพวกไข่แดงต้มสุกบดละเอียด เมื่อลูกปลาอายุประมาณ 3 อาทิตย์หรือเลี้ยงอนุบาลจนลูกปลามีขนาดประมาณ 3 cm เปลี่ยนอาหารให้เป็นพวกลูกปลาที่เพาะได้ใหม่ๆ เช่น ลูกปลาตะเพียน ส่วนพ่อแม่พันธุ์นั้นหลังจากที่ผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว ควรเอาไปพักฟื้น แยกเอาไปไว้ในบ่ออื่น เพราะปลายังอ่อนเพลียอยู่ เมื่อเลี้ยงปลาเสือตอจนได้ขนาดตามต้องการแล้ว สามารถนำไปจำหน่าย แยกเลี้ยงเพื่อความสวยงามหรือจะนำไปเลี้ยงเพื่อเพาะขยายพันธุ์ได้ตามต้องการ
3. โรคที่พบในปลาเสือตอและการรักษาปลาเสือตอที่เป็นโรค จะแสดงความไม่สบายและเจ็บป่วยออกมาทางสีของลำตัว คือปลาจะมีสีคล้ำขึ้น โรคที่พบในปลาเสือตอส่วนใหญ่เกิดจากปรสิตที่มีอยู่แล้วในปลาเสือตอที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ โรคฝีตามลำตัว ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตุ่มบวมใหญ่ออกจากผิวหนังตามลำตัว การรักษาควรแยกปลาที่ป่วยออกจากตู้มาเลี้ยงในตู้อื่น แล้วให้อากาศอย่างเพียงพอ ระบบกรองน้ำต้องดี ให้อดอาหารประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารให้กินวันละครั้งประมาณ 3 ครั้ง ส่วนอีกโรคที่พบบ่อยก็คือ โรคจุดขาว ซึ่งเกิดจากเชื้ออิ๊ค การรักษาทำได้โดยใช้ยารักษาโรคอิ๊ค ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดและควรปฏิบัติตามวิธีใช้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมีโรคครีบเปื่อย หางเปื่อย และตาฝ้าขาว ซึ่งทั้งหมดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการของโรคคือ ครีบหางเปื่อยหลุดหายไป บางทีจะเห็นเป็นเชื้อราขึ้นเป็นสีขาว การรักษาทำโดย ใช้ยาเหลือง (Acriflavine) 1 ช้อนชาละลายในน้ำ 1 ลิตร สามารถเก็บในขวดสีชาเป็นstock ใช้ได้หลายครั้ง โดยตักมา 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 5 ลิตร แช่ปลาไว้ทุกวันจนปลาหาย และจะต้องเปลี่ยนน้ำทุกวัน
4. โอกาสทางการค้าและตลาดปลาเสือตอ ปลาเสือตอกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม ชนิดปลาเสือตอที่นิยมเลี้ยงและมีราคาสูงที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ปลาเสือตอลายใหญ่และลายคู่ ขนาด 1-3 นิ้วราคาโดยทั่วไปอยู่ที่ 300-2,000 บาท ส่วน 5-12 นิ้ว ราคาอยู่ที่ 1,000-12,000 บาท ทั้งนี้ราคาก็ขึ้นอยู่กับเกรดของปลาด้วย ในบ้านเราสามารถหาซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายปลาสวยงามแถวตลาดซันเดย์ ตลาดสวนจตุจักร ฯลฯ ทุกวันนี้ปลาทั้งสองชนิด ต้องนำเข้ามาจากประเทศเขมรโดยพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นปลาที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติคือ ทะเลสาบเขมร นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม ปลาเสือตอที่นำเข้ามามีทุกขนาด ซึ่งนอกจากจะขายในประเทศแล้วยังส่งเป็นสินค้าส่งออกขายต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น จะมีออร์เดอร์สั่งปลาชนิดนี้อยู่ตลอด แต่นอกจากปลาเสือตอนำเข้าแล้ว ปลาเสือตอที่เห็นในตลาดปลาสวยงามในปัจจุบันก็ยังมาจากการเพาะเลี้ยงโดยการผสมเทียมอีกด้วย ในประเทศไทยปลาเสือตอที่จับได้จะเป็นชนิดลายเล็ก ซึ่งจับได้ในแถบภาคกลางและภาคอีสาน พบมากในแม่น้ำโขง แถบจังหวัดหนองคาย นครพนม แต่ราคาถูกกว่าปลานำเข้า ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาราคาขายปลายังไม่แพง ขนาด 2 นิ้ว ตัวละประมาณ 50 บาท แต่ราคาในปัจจุบันปลาเสือตอลายเล็กถือว่ามีราคาถูกที่สุดในบรรดาปลาเสือตอทั้งหมด (ไม่รวมปลากะพงลายซึ่งมีลักษณะคล้ายปลาเสือตอ) ขนาด 1-3 นิ้วมีราคาขายกันประมาณ 250-600 บาทในบ้านเรามีผู้เพาะเลี้ยงปลาเสือตออย่างถูกต้องตามกฎหมายและประสบผลสำเร็จน้อย จึงทำให้ไทยต้องสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศในการนำเข้าปลาเสือตอปีละหลายล้านบาทเลยทีเดียว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราช่วยกันพัฒนาและประสบผลสำเร็จในด้านการเพาะเลี้ยงปลาเสือตอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์เพื่อให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น การมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ เมื่อนั้นนอกจากเราจะมีปลาเสือตอเลี้ยงในราคาที่ไม่แพงและสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศได้มากแล้ว เราอาจจะมีปลาเสือทุกชนิดกลับมาแหวกว่ายอยู่ในน่านน้ำไทยได้เหมือนในอดีตก็เป็นได้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยบัญญัติไว้นกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2540 ผู้ที่ต้องการมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองจะต้องขออนุญาติเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และจะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาติ ผู้ใดมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาติจะมีความผิดโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาทและจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารอ้างอิง
1. กฤษณา แก้วชะอุ่ม และภีระ ไกรแสงศรี 2548 ปลาอะโรวาน่า ปลาเสือตอ สำนักพิมพ์ วีทีเอส บุ๊คเซ็นเตอร์ นนทบุรี
2. จี้เส็ง แซ่จิว 2541 ปลาเสือตอ ปลาที่ตลาดต้องการ วารสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน สำนักพิมพ์ พิฆเนศ กรุงเทพฯ ปีที่ 10 ฉบับที่ 190 หน้า 82-83
3. นิด ชากังราว 2541 บึงบอระเพ็ดวันนี้รอการกลับมาของปลาเสือตอ ปลาน้ำจืดที่หายสาบสูญ วารสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน สำนักพิมพ์ พิฆเนศ กรุงเทพฯ ปีที่ 10 ฉบับที่ 187 หน้า 80-80
4. ปรีชา ลิ่มไชยฤกธ์ 2541 แวะดูงานเลี้ยงปลาเสือตอ วารสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน สำนักพิมพ์ พิฆเนศ กรุงเทพฯ ปีที่ 11 ฉบับที่ 200 หน้า 73-74
5. นิด ชากังราว 2541 บึงบอระเพ็ดวันนี้รอการกลับมาของปลาเสือตอ ปลาน้ำจืดที่หายสาบสูญ วารสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน สำนักพิมพ์ พิฆเนศ กรุงเทพฯ ปีที่ 10 ฉบับที่ 187 หน้า 80-80
6. สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง และนาวิน มหาวงศ์ 2536 การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอแบบธรรมชาติ วารสารการประมง สำนักพิมพ์กรมประมง กรุงเทพฯ ปีที่ 46 ฉบับที่ 6หน้า 495-501
7.http://www.thaipost.net/index.aspMbk=xcite&post_date=8/Mar/2545&news_id=49862&cat_id=2007008. 8.http://2snake2fish.com/fish/miscellaneous/siam-tiger.html
10.http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/4-5/no20/aboutleangpla.html
11.http://www.fisheries.go.th/if-nakhonsawan/papermicrochip_complete.htm
13.http://nicaonline.com/new-44.htm14. http://wwwninekaow.com/fishes/view.php?id=00179

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น