วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิธีการใช้น้ำส้มควันไม้ผสมผงถ่านในอาหารสุกร ช่วยป้องกัน และลดอาการท้องร่วงในสุกรหย่านม


ในชนบทของไทยเกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยพลังงานในการหุงต้มในรูปแบบของถ่านไม้ ที่ได้จากการตัดและเก็บฟืนในหัวไร่ ปลายนา ทั้งจากสวนไม้ผล และสวนหลังบ้าน ผลผลิตที่ได้มีเพียงถ่านไม้ ปล่อยควันให้ระบายออกทางปล่องควันโดยไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการคิดค้นเตาเผาไม้เพื่อเก็บควัน นอกจากจะเป็นการลดปริมาณก๊าซที่เป็นทั้งมลพิษและก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ จากกระบวนการเก็บควันนี้ สามารถนำควันไปควบแน่นให้เกิดเป็นหยดน้ำ เรียกกันว่า “น้ำส้มไม้ หรือน้ำส้มควันไม้ (wood vinegar หรือ pyroligneous acid)” ซึ่งเป็นผลผลิตที่สามารถนำไปใช้ในทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีเกษตร และสามารถเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย
ในทางปศุสัตว์ สามารถนำน้ำส้มไม้มาใช้ฉีดพ่นไล่แมลงในคอกสัตว์ และนำมาผสมอาหารเลี้ยงสัตว์เพื่อดับกลิ่นในโรงเรือนได้ นอกจากนี้ น้ำส้มไม้ ยังช่วยทำให้การย่อยและการใช้ประโยชน์จากอาหารดีขึ้น และในปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เริ่มมีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต ดังนั้นการเสริมน้ำส้มไม้ในอาหารสัตว์จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการนำมาทดแทนยาปฏิชีวนะ เนื่องจากน้ำส้มไม้มีส่วนประกอบเป็นกรดอินทรีย์หลายชนิด ที่มีฤทธิ์ในการช่วยย่อยอาหารของลูกสุกรหย่านมซึ่งยังมีระบบการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ และช่วยยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโทษในระบบทางเดินอาหารได้ และช่วยทำให้สุกรหลังหย่านมสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายชนิดได้ดีขึ้น
รายงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการนำน้ำส้มไม้ที่ผ่านการกลั่นผสมในอาหารสัตว์สามารถช่วยป้องกันโรคโดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่ค่อยมีการศึกษาถึงการนำน้ำส้มไม้ที่ผลิตในชุมชน ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นจึงมีการศึกษาเพื่อหาแนวทางการนำน้ำส้มไม้ที่ผลิตในชุมชน มาใช้ประโยชน์จากอาหารสัตว์ได้ดีขึ้น ผลการศึกษาจะเป็นข้อมูลให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจในการเลือกใช้ เลือกที่จะผลิตเองเพื่อลดการใช้สารเคมีในอาหารสัตว์ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำส้มไม้ที่ผลิตในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
จากการศึกษาการใช้น้ำส้มควันไม้เสริมในอาหารสุกรหลังหย่านม พบว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับการใช้น้ำส้มควันไม้เสริมอาหารสุกรหลังหย่านมคือ 0.2 – 0.6 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้น้ำส้มควันไม้ผสมผงถ่านในสัดส่วน 1 ต่อ 4 ที่ระดับ 1- 3 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร จะช่วยป้องกัน และลดอาการท้องร่วงในสุกรหย่านม (สังเกตจากมูลสุกรแข็งเป็นก้อน) ซึ่งจะทำให้สุกรใช้ประโยชน์จากอาหารได้มากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพของสุกรหลังหย่านมซึ่งอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการผลิตสุกรอินทรีย์ต่อไป

วิธีการใช้น้ำส้มควันไม้ผสมผงถ่านในอาหารสุกร
ดำเนินการโดยผสมน้ำส้มควันไม้กับถ่านหุงต้มที่บด หรือตำให้ละเอียด (อาจได้จากการเผาถ่านจากเตาเผาถ่าน ผลิตน้ำส้มไม้เอง) ในสัดส่วน น้ำส้มควันไม้ต่อผงถ่าน 1 : 4 (อาจใช้สัดส่วนต่ำกว่านี้ ได้ เช่น 1 : 3 โดยดูว่าอย่าใช้ส่วนผสมชื้น หรือแฉะเกินไป) โดยทำการผสมในภาชนะให้เข้ากันดีก่อน จากนั้นนำไปผสมกับอาหารสุกรสำเร็จรูป หรืออาหารที่ผสมใช้เอง โดยใช้ในระดับ 1-3 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือทำการผสมดังนี้
- ถ้าจะใช้ส่วนผสมของน้ำส้มควันไม้ร่วมกับผงถ่าน 1 เปอร์เซ็นต์สูตรอาหาร หมายถึงถ้าจะผสมอาหารจำนวน 100 กิโลกรัม จะใช้ น้ำส้มควันไม้ร่วมกับผงถ่าน 1 กิโลกรัม ผสมกับอาหารที่ผสมแล้ว 99 กิโลกรัม
หมายเหตุ : กรณีใช้สัดส่วนน้ำส้มควันไม้ต่อผงถ่าน 1:4 ใช้น้ำส้มควันไม้ 200 กรัม หรือ 2 ขีดผสมกับ ผงถ่าน 800 กรัม หรือ 8 ขีด
: กรณีใช้สัดส่วนน้ำส้มควันไม้ต่อผงถ่าน 1:3 ใช้น้ำส้มควันไม้ 250 กรัม หรือ 2.5 ขีดผสมกับ ผงถ่าน 750 กรัม หรือ 7.5 ขีด
- ถ้าจะใช้ส่วนผสมของน้ำส้มควันไม้ร่วมกับผงถ่าน 3 เปอร์เซ็นต์สูตรอาหาร หมายถึงถ้าจะผสมอาหารจำนวน 100 กิโลกรัม จะใช้ น้ำส้มควันไม้ร่วมกับผงถ่าน 3 กิโลกรัม ผสมกับอาหารที่ผสมแล้ว 97 กิโลกรัม
หมายเหตุ : กรณีใช้สัดส่วนน้ำส้มควันไม้ต่อผงถ่าน 1:4 ใช้น้ำส้มควันไม้ 600 กรัม หรือ 6 ขีดผสมกับ ผงถ่าน 2.4 กิโลกรัม
: กรณีใช้สัดส่วนน้ำส้มควันไม้ต่อผงถ่าน 1:3 ใช้น้ำส้มควันไม้ 750 กรัม หรือ 7.5 ขีดผสมกับ ผงถ่าน 2.25 กิโลกรัม

ข้อแนะนำการเลือกใช้น้ำส้มควันไม้

การใช้น้ำส้มควันไม้ดิบที่ผลิตในท้องถิ่น ซึ่งมีการผลิตที่หลากหลาย และอาจไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานชุมชนน้ำส้มควันไม้ดิบ (มผช. 659/2547) จึงทำให้ได้น้ำส้มควันไม้ที่มีคุณภาพไม่คงที่ ดังนั้นการนำมาใช้ประโยชน์ควรมีการตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานดังกล่าวซึ่งแสดงในตารางที่ 1


ตารางที่ 1 สมบัติของน้ำส้มไม้ที่ผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
คุณลักษณะที่ต้องการ
น้ำส้มไม้ดิบ (มผช. 659/2547)
น้ำส้มไม้กลั่น (มผช. 660/2547)
ลักษณะทั่วไป
ต้องเป็นของเหลวใส สีน้ำตาลแดงหรือสีเหลือง อมน้ำตาล เป็นเนื้อเดียวกันไม่แยกชั้น ตกตะกอน มีสิ่งแปลกปลอมหรือมีสารแขวนลอย
ต้องเป็นของเหลวใส สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น ตกตะกอน มีสิ่งแปลกปลอมหรือมีสารแขวนลอย กลิ่นต้องมีกลิ่นเหมือนควันไฟ ต้องมีกลิ่นเหมือนควันไฟ
การเปลี่ยนสี ต้องไม่เปลี่ยนเป็นสีดำ ต้องไม่เปลี่ยนเป็นสีดำ ความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 2.8-3.7
ต้องอยู่ระหว่าง 1.5-2.8 ความถ่วงจำเพาะ ต้องไม่น้อยกว่า 1.005 ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
ต้องไม่น้อยกว่า 1.001 ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น